หากคุณกำลังจะตัดสินใจซื้อบ้านสักหลังหรือคอนโดสักห้อง การยื่นขอสินเชื่อบ้านจะเป็นตัวช่วยให้คุณสามารถซื้อบ้านหรือคอนโดได้ นอกจากสลิปเงินเดือน และการเดินบัญชีต่างๆ ที่ธนาคารจะนำมาใช้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับเรา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่ธนาคารนำมาพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อคือ “NPL” หรือหนี้เสีย และในวันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักว่า NPL คืออะไร และทำไมถึงมีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร
NPL คืออะไร
NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan หรือ หนี้เสีย คือ หนี้ที่เกิดจากการที่ธนาคารอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้ แต่ผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยติดต่อกันนานเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป ผู้ที่ติด NPL จะถูกธนาคารมองว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ และมักจะไม่อนุมัติสินเชื่อให้กับคนกลุ่มนี้ เพราะธนาคารจำเป็นจะต้องควบคุมไม่ให้มีตัวเลข NPL สูงขึ้นจนเกินไป เนื่องจากอาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศล่มได้
ซึ่ง NPL จะไม่เหมือนกันเครดิตบูโร เนื่องจาก NPL คือ หนี้เสียของตัวผู้กู้และเป็นตัวเลขที่บอกธนาคารมีหนี้เสียอยู่เท่าไหร่ ซึ่งธนาคารจะต้องพยายามควบคุมตัวเลข NPL เอาไว้ ทำให้มักจะไม่อนุมัติสินเชื่อให้กับผู้กู้ แต่เครดิตบูโรจะเป็นเพียงฐานข้อมูลที่เก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า ที่มีส่วนในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันปัญหาหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น
5 วิธี ทำอย่างไรให้ไม่ติด NPL
1.สำรวจรายรับ-รายจ่าย และจัดระเบียบการเงินก่อนยื่นกู้
การสำรวจรายรับ-รายจ่าย และจัดระเบียบการเงิน รวมถึงวางแผนการชำระหนี้ จะช่วยให้คุณสามารถจัดการหนี้ได้อย่างเป็นระเบียบ รวมถึงทราบว่าจะต้องควบคุมรายจ่ายต่อเดือนให้อยู่ประมาณไหน ซึ่งจะลดโอกาสในการติด NPL ได้
2.ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
เมื่อได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว แน่นอนว่าการชำระหนี้ให้ตรงเวลา นอกจากจะทำให้ไม่ติด NPL แล้ว ยังทำให้คุณมีวินัยในการชำระหนี้ที่ดี รวมถึงมีประวัติทางการเงินที่ดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อได้มากขึ้นด้วย
3.หากติด NPL ควรยื่นเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ให้เร็วที่สุด
หากคุณรู้ตัวว่าไม่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆ หรือติด NPL ไปแล้ว การติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย หรือการชำระเงินต้น จะช่วยลดภาระในการชำระหนี้ให้กับคุณได้ นอกจากนี้ หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะค้างชำระเกิน 90 วัน ก็จะทำให้คุณไม่ติด NPL ด้วย
4.ทำตามเงื่อนไขของการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเคร่งครัด
หากคุณยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ และได้รับเงื่อนไขในการชำระหนี้ใหม่มาแล้ว ควรจะทำตามเงื่อนไขนั้นอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
5.ปิดหนี้ NPL ให้หมด
นอกจากการปิดหนี้ NPL จะช่วยให้คุณหมดกังวลกับหนี้ที่ค้างไว้แล้ว ยังเป็นการปรับประวัติการเงินของคุณใหม่ ซึ่งจะมีส่วนในการอนุมัติสินเชื่อในอนาคต
แนวทางในการหลุดพ้นจาก NPL
แน่นอนว่าทุกปัญหามีทางแก้เสมอ ซึ่งแนวทางในการจะหลุดพ้นจากการเป็นลูกหนี้ NPL คือ “การปรับโครงสร้างหนี้” ซึ่งสามารถเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยสามารถทำได้ ดังนี้
1.ยืดระยะเวลาชำระหนี้
การยืดหรือขยายเวลาในการชำระหนี้ จะช่วยลดภาระในการผ่อนชำระให้สอดคล้องกับรายได้มากขึ้น
2.พักชำระเงินต้น
โดยปกติแล้ว ผู้กู้จะต้องผ่อนชำระหนี้ 2 ส่วน คือ เงินต้น และดอกเบี้ย การพักชำระเงินต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระในการชำระหนี้ให้กับผู้กู้ได้มากขึ้น
3.ลดอัตราดอกเบี้ย
การลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะสามารถช่วยผู้กู้ได้มากพอสมควร เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง ก็จะทำให้ผู้กู้มีเงินสำหรับชำระเงินต้นมากขึ้น และเมื่อเงินต้นลดลง ดอกเบี้ยก็จะลดลงตามไปด้วย
สำหรับคนที่ติด NPL หรือมีแนวโน้มว่าจะติด NPL ก็อย่าลืมติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงจัดระเบียบการเงินของตนเองให้เป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อให้สามารถชำระหนี้ที่ค้างคาไว้ได้ นอกจากนี้ ก่อนจะตัดสินใจยื่นกู้เงิน ก็อย่าลืมสำรวจรายรับ-รายจ่ายของตนเองก่อนเสมอ เพื่อให้สามารถวางแผนในการชำระหนี้ได้ดี และไม่เกิดเป็นหนี้สะสมจนไม่สามารถชำระได้ทัน และหากใครสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกู้เงิน ก็สามารถติดตามต่อได้ที่ Pico Money เพราะเราพร้อมจะอัปเดตทุกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคุณในการกู้เงิน